Code 38 : การเมืองยังคงกดดันตลาด

วันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน 2553

สรุปภาพรวมเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทย
บ.หลักทรัพย์ชี้การเมืองกดดันหุ้นไทยสัปดาห์หน้า
By TNNThailand.com


บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยชี้ปัญหาการเมืองเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้าวิ่งไปไม่ไกล ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิต่อเนื่อง

3 เม.ย. 53 : ตลาดหุ้นไทย ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีกลับมายืนเหนือ 800 จุดอีกครั้ง แตะระดับสูงสุดในรอบ 21 เดือน โดยปิดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ที่ระดับ 801.15 จุด ท่ามกลางแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ ที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 6 กว่า 7,745 ล้านบาท ขณะที่ นักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบัน ขายสุทธิ เกือบ 8 พันล้านบาท

โดยวันจันทร์ที่ผ่านมาดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวผันผวนก่อนจะปิดลบเล็กน้อย จากแรงขายทำกำไร จากนั้นดัชนีปิดปรับตัวขึ้นในวันอังคารจากแรงซื้อเพื่อทำราคาปิดสิ้นงวดบัญชี ส่วนในช่วงกลางสัปดาห์ ดัชนีปิดลดลง อย่างไรก็ตามดัชนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับปิดสูงสุดในรอบกว่า 21 เดือน ในวันพฤหัสบดี โดยปิดทะลุระดับ 800 จุด ได้เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2551 ด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาแน่น ส่วนวันศุกร์ดัชนีปรับลดลงเล็กน้อย แต่ยังยืนเหนือ 800 จุด

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้า บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยและบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดหุ้นไทย อาจจะซึมลงเนื่องจากใกล้วันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่ ดัชนีน่าจะยังแกว่งตัวผันผวนขึ้นได้ในลักษณะ Sideway โดยปัจจัยในประเทศที่ต้องจับตาได้แก่ สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญ คงจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ การปรับตัวของตลาดหุ้นภูมิภาค ตลอดจน การรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย คาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 798 จุด และ 788 จุด ขณะที่ แนวต้านคาดว่า จะอยู่ที่ 824-830 จุด

ด้านความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทในประเทศ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขยับแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ ความต้องการเงินดอลลาร์ ในช่วงสิ้นเดือนจากฝั่งผู้นำเข้าเริ่มเบาบางลง โดยการแข็งค่าของเงินบาท ยังคงเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ที่ล้วนได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินทุนไหลเข้า อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงกลางสัปดาห์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ประกอบกับ มีแรงซื้อเงินดอลลาร์ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่า เป็นการเข้าดูแลเสถียรภาพเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย

ส่วนสัปดาห์หน้า เงินบาทในประเทศอาจเคลื่อนไหวในกรอบ 32 บาท 10 สตางค์ ถึง 32 บาท 50สตางค์ต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล สัญญาณการเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย และทิศทางของสกุลเงิน/ตลาดหุ้นในภูมิภาค ขณะที่ ทิศทางของเงินดอลลาร์ อาจขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ นอกจากนี้ นักลงทุนยังอาจจับตาประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับวิกฤตหนี้ของกรีซ รวมถึงผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางออสเตรเลีย

สรุปภาพรวมเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ตปท. By TNNThailand.com

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดบวก 70.44 จุด หลังสหรัฐเผยข้อมูลศก.แข็งแกร่ง ขณะที่น้ำมันทะยานสูงสุดในรอบ 17 เดือนครั้งใหม่

02 เม.ย. 53 : ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (1 เม.ย.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขว่างงานสัปดาห์ที่แล้วปรับตัวลดลง และดัชนีภาคการผลิตทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 5 ปี นอกจากนี้ นักลงทุนยังขานรับข้อมูลภาคการผลิตที่แข็งแกร่งทั่วโลก รวมถึงจีน อินเดีย และญี่ปุ่น พร้อมกับจับตาดูตัวเลขจ้างงานเดือนมี.ค.ที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในคืนวันศุกร์

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดบวก 70.44 จุด หรือ 0.65% แตะที่ 10,927.07 จุด ดัชนี S&P 500 ปิดบวก 8.67 จุด หรือ 0.74% แตะที่ 1,178.10 จุด และดัชนี Nasdaq ดีดขึ้น 4.62 จุด หรือ 0.19% ปิดที่ 2,402.58 จุด

ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 7.78 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นบวกมากกว่าหุ้นลบในอัตราส่วน 3 ต่อ 1

นักวิเคราะห์จากบริษัท แอลพีแอล ไฟแนนเชียล ในเมืองบอสตัน กล่าวว่า ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นไปอย่างคึกคัก เนื่องจากนักลงทุนขานรับข้อมูลภาคการผลิตที่แข็งแกร่งตั้งแต่สหรัฐ จีน อินเดีย ไปจนถึงญี่ปุ่น รวมทั้งการร่วงลงของจำนวนชาวอเมริกันที่ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่แล้ว โดยนักลงทุนยังคงเดินหน้าเข้าซื้อหุ้นพร้อมกับจับตาดูตัวเลขจ้างงานเดือนมี.ค.ที่ทางการสหรัฐจะเปิดเผยในคืนวันศุกร์

กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 6,000 คน มาอยู่ที่ระดับ 439,000 คนในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่สถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีกิจกรรมการผลิตของสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 59.6 จุดในเดือนมี.ค.ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 5 ปีครึ่ง จากเดือนก.พ.ที่ระดับ 56.5 จุด

ตลาดหุ้นนิวยอร์กได้แรงหนุนหลังจากสมาพันธ์โลจิสติกและการจัดซื้อแห่งชาติของจีนเปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของภาคการผลิตประจำเดือนมี.ค.อยู่ที่ระดับ 55.1 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 52 จุดในเดือนก.พ. โดยดัชนีที่เคลื่อนไหวเหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนมีการขยายตัว ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของอินเดียยังคงเคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับ 50 จุด และดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ -14 จุด ซึ่งเพิ่มขึ้น 11 จุดจากระดับ -25 จุดของไตรมาสก่อนหน้านี้ และเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันสี่ไตรมาส

นักลงทุนจับตาดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (nonfarm payroll) เดือนมี.ค.ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันศุกร์นี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 200,000 คน และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนมี.ค.จะทรงตัวที่ระดับ 9.7% เพราะได้แรงหนุนจากโครงการจ้างพนักชั่วคราวของภาครัฐเพื่อทำการสำรวจจำนวนประชากรครั้งใหญ่ที่จัดขึ้นทุก 10 ปีในปีนี้ รวมถึงสภาพอากาศที่ดีขึ้นทำให้มีการจ้างงานมากขึ้น

หุ้นกลุ่มพลังงานดีดตัวขึ้นตามราคาน้ำมันดิบตลาด NYMEX โดยหุ้นอ็อคซิเดนทัล ปิโตรเลียม คอร์ป และหุ้นไดมอนด์ ออฟชอร์ ดริลลิง อิงค์ ปิดบวกกว่า 2% ส่วนรีเสิร์ช อิน โมชั่น (RIM) ผู้ผลิตโทรศัพท์แบล็คเบอร์รี ปิดร่วง 7% หลังจากบริษัทเปิดเผยผลประกอบการรายไตรมาสที่ต่ำกว่าคาดการณ์

ขณะที่ ราคาน้ำมันทะยานสูงสุดในรอบ 17 เดือนครั้งใหม่เมื่อวันพฤหัสบดี(1) ตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกทั้งในยูโรโซน ญี่ปุ่น จีนและสหรัฐฯ ขณะเดียวกันปัจจัยเหล่านี้ก็ส่งผลให้วอลล์สตรีท ปิดบวกอย่างแรง

สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้น 1.11 ดอลลาร์ ปิดที่ 84.87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2008 ส่วนเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน เพิ่มขึ้น 1.31 ดอลลาร์ ปิดที่ 84.01 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2008

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น