

-----------------------------------------------------------------------------
บล.ไทยพาณิชย์ แนะทยอยขายทำกำไรคาดสหรัฐไม่เบี้ยวหนี้แต่เสี่ยงถูกลดเครดิต
บล.ไทยพาณิชย์ แนะกลยุทธ์การลงทุนว่า ตลาดฯมี Upside gain น้อยกว่า Downside risk ในขณะที่การซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในช่วงหลังทราบผลการเลือกตั้งมีมูลค่าสะสมเท่ากับ 35,706 ล้านบาท ต่ำกว่าที่เคยขายสุทธิออกไปที่ประมาณ 40,000 ล้านบาท ทำให้คาดว่าแรงซื้อคืนในระยะสั้นน่าจะลดลง ดังนั้น จึงแนะนำนักลงทุนทยอยขายทำกำไรหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมามากกว่าตลาดฯ
จากบทวิเคราะห์แนวโน้มปัญหาเพดานหนี้สหรัฐและกลยุทธการลงทุน โดยคาดว่าสหรัฐฯไม่ยอมผิดนัดชำระหนี้แต่มีความเสี่ยงเรื่องการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยประเมินแนวทางของผลการเจรจาเพื่อขยายเพดานหนี้ของรัฐสภาสหรัฐฯไว้ 3 แนวทาง คือ 1.ขยายเพดานหนี้ทันเวลาวันที่ 2 ส.ค. ซึ่งมีโอกาสเกิดมากที่สุดและเป็นกรณีที่ดีที่สุด 2. ขยายเพดานหนี้ไม่ทันวันที่ 2 ส.ค. แต่จะขยายได้ภายหลังจากนั้นไม่นานและไม่ผิดนัดชำระหนี้ มีโอกาสเกิดขึ้นปานกลาง ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านลบต่อตลาดการเงินในระยะสั้นแต่ไม่มากนัก และ 3. ผิดนัดชำระหนี้ มีโอกาสเกิดน้อยที่สุด แต่หากเกิดขึ้นจะกระทบต่อตลาดการเงินมากที่สุด
ขณะที่ความเสี่ยงสำคัญของสหรัฐฯ คือ การถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ ถูกลดอันดับความน่าเชื่อ เนื่องจากไม่สามารถขยายเพดานหนี้ได้ทันวันที่ 2 ส.ค.ซึ่งคาดว่าจะเป็นการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือเพียงระยะสั้น หรือถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ เนื่องจาก แผนการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯต่ำกว่าระดับที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต้องการ ซึ่งกรณีหลังนี้จะมีผลกระทบมากกว่ากรณีแรก และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาพันธบัตรสหรัฐฯ และ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
แต่ผลกระทบในเชิงลบดังกล่าวจะต่ำกว่ากรณีที่สหรัฐฯผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากประเมินว่า นักลงทุนที่เป็นผู้ถือครองพันธบัตรสหรัฐฯส่วนใหญ่ ได้แก่ จีน และ ญี่ปุ่น จะไม่เทขายพันธบัตรสหรัฐฯที่ถือครองอยู่ออกมา เนื่องจากเป็นการสร้างความเสียหายให้กับตัวเอง ซึ่งประเทศญี่ปุ่นก็เคยถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงจาก AAA เหลือ AA- เหมือนกันในอดีต แต่แรงขายพันธบัตรมีไม่มากเนื่องจากผู้ถือพันธบัตรส่วนใหญ่เป็นญี่ปุ่นเอง แต่อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรสหรัฐฯจะปรับตัวขึ้นสะท้อนอันดับความเสี่ยงที่ลดลง ซึ่งพิจารณาได้จากระดับค่าประกันความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี (CDS) ของสหรัฐฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงนี้
นอกจากนี้ ประเมินว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้สะท้อนความกังวลเกี่ยวกับเรื่องปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯไปพอสมควรแล้ว หลังจาก Dollar index อ่อนค่าแล้ว 3% นับตั้งแต่ระดับ 76 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินในเอเชียแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในรอบ 14 ปี โดยล่าสุด ค่าเงินเยน และ ค่าเงินบาท อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ และ 29.74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ หรือแข็งค่าขึ้นในช่วงเดียวกัน 4% และ 2% ตามลำดับ
แนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะผันผวนมากในช่วงวันนี้จนถึงวันที่ 2 ส.ค. คาดว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีโอกาสผันผวนสูงมากในช่วงหลังจากทราบผลการขยายเพดานหนี้ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ภายในสัปดาห์นี้ถึงวันที่ 2 ส.ค.
ผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยประเมินว่าแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นมีโอกาสผันผวนซึ่งจะขึ้นกับทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นหลัก เนื่องจากมีผลกระทบต่อทิศทางเงินทุนจากต่างประเทศ แต่เรายังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีว่าดัชนีฯมีโอกาสปรับตัวขึ้นถึง 1200 จุดได้ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานที่ดีกว่าในฝั่งสหรัฐฯและยุโรป ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง
แนวโน้มตลาดหุ้นในระยะสั้นแบ่งออกได้เป็น 3 กรณี ได้แก่
1.ผลการเจรจาขยายเพดานหนี้สำเร็จ คาดว่าจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น ซึ่งในระยะสั้นตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติมีโอกาสขายทำกำไรระยะสั้นจากส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน ดัชนีฯมีโอกาสลดลงไปที่ระดับ 1080 จุด ซึ่งเป็นต้นทุนเฉลี่ยของนักลงทุนต่างชาติในรอบนี้
2. สหรัฐฯถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าต่อเนื่องอีกสักระยะหนึ่ง ส่งผลให้ค่าเงินในเอเชียแข็งค่าต่อเนื่องจากเงินทุนไหลเข้า ดัชนีฯมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปถึงระดับ 1150 จุด
3. สหรัฐฯผิดนัดชำระหนี้ คาดว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวลดลงแรง ประเมินว่าอาจลดลงไปได้ถึง 1060-1030 จุด
DJIA:ตลาดหุ้นนิวยอร์ค:ดาวโจนส์ปิดร่วงลงก่อนสภาผู้แทนโหวตกม.หนี้
ตลาดหุ้นสหรัฐปิดตลาดในแดนลบเป็นส่วนใหญ่ในวันพฤหัสบดี โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์และดัชนี S&P 500 ปิดตลาดร่วงลง แต่ดัชนี Nasdaq ปิดตลาดขยับขึ้น ในขณะที่นักลงทุนไม่แน่ใจว่าการโหวตร่างกฎหมายเพดานหนี้ในสภาคองเกรสจะส่งผลให้มีการบรรลุข้อตกลงที่นำไปสู่การปรับขึ้นเพดานหนี้ได้จริงหรือไม่
ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดร่วงลง 62.44 จุด หรือ 0.51% สู่12,240.11, ดัชนี S&P 500 ปิดอ่อนลง 4.22 จุด หรือ 0.32 % สู่ 1,300.67 และดัชนี Nasdaq ปิดปรับขึ้น 1.46 จุด หรือ 0.05 % สู่ 2,766.25
ปริมาณการซื้อขายอยู่ที่ราว 7.93 พันล้านหุ้นในตลาดหุ้นนิวยอร์ค, ตลาดหุ้นอเมริกัน (American Stock Exchange) และตลาดหุ้น Nasdaq ซึ่งสูงกว่าปริมาณเฉลี่ยต่อวันของปีนี้ที่ 7.47 พันล้านหุ้น
จำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในสัดส่วนราว 3 ต่อ 2 ในตลาดนิวยอร์ค และจำนวนหุ้นลบกับหุ้นบวกมีสัดส่วนเกือบเท่ากันในตลาด Nasdaq
ดัชนี S&P 500 ปิดตลาดในแดนลบเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน ในขณะที่นักลงทุนออกไปรอดูท่าทีอยู่นอกตลาด เพื่อดูว่าสมาชิกสภาคองเกรสจะสามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณสหรัฐได้หรือไม่
คาดกันว่าสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอาจจะโหวตร่างกฎหมายของพรรครีพับลิกันในการปรับขึ้นเพดานหนี้หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐปิดทำการในวันพฤหัสบดี ส่วนวุฒิสภาสหรัฐที่อยู่ภายใต้การนำของพรรคเดโมแครตก็กำลังจัดทำร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง เพื่อแข่งขันกัน และผู้นำพรรคเดโมแครตได้กล่าวว่า ร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา
ปัญหาเรื่องยอดขาดดุลงบประมาณสหรัฐทำให้ระดับความผันผวนในตลาดหุ้นสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นขณะที่ตลาดหุ้นร่วงลง โดยดัชนี S&P 500 ดิ่งลงมาแล้ว 3.3 % จากช่วงต้นสัปดาห์นี้ ส่วนดัชนีความผันผวน CBOE หรือดัชนี VIX ทะยานขึ้นสู่ 23.74 ซึ่งถือเป็น จุดสูงสุดนับตั้งแต่กลางเดือนมิ.ย.
ดัชนี Nasdaq ได้รับแรงหนุนจากหุ้นกรีน เมาน์เทน คอฟฟี โรสเตอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทขายกาแฟ โดยหุ้นตัวนี้พุ่งขึ้น 16.4 % สู่ 102.57 ดอลลาร์ หลังจากกรีนเมาน์เทนรายงานในช่วงเย็นวันพุธว่า ยอดขายทะยานขึ้น 18 % ในไตรมาสสาม อย่างไรก็ดี หุ้นเอ็กซอน โมบิล คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ดิ่งลง 2.2 % เนื่องจากเอ็กซอน โมบิลเปิดเผยผลประกอบการที่ต่ำเกินคาด--จบ--
ตลาดน้ำมันนิวยอร์ค:น้ำมันดิบขยับขึ้น 4 เซนต์,จับตาพายุโซนร้อน
ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ขยับขึ้นเล็กน้อยในวันพฤหัสบดีท่ามกลางบรรยากาศการซื้อขายที่ผันผวนมาก โดยราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนจากตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่ดิ่งลงอย่างรุนแรงเกินคาด และจากพายุโซนร้อนที่ทำให้โรงงานน้ำมันบางแห่งต้องปิดทำการ โดยปัจจัยเหล่านี้ช่วยบดบังแรงลบที่ราคาน้ำมันได้รับจากความไม่แน่นอนเรื่องปัญหาเพดานหนี้ในสหรัฐ
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบส่งมอบเดือนก.ย.ขยับขึ้น 4 เซนต์ หรือ 0.04 % มาปิดตลาดที่ 97.44 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 96.51-98.01 ดอลลาร์
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ย.ที่ตลาดกรุงลอนดอนอ่อนลง 7 เซนต์สู่ 117.36 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากลงไปแตะจุดต่ำสุดของวันที่ 117.05 ดอลลาร์
ปริมาณการซื้อขายที่เบาบางมีส่วนทำให้ราคาน้ำมันแกว่งตัวผันผวนมากยิ่งขึ้น
บริษัทผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกเริ่มต้นปิดการผลิดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในขณะที่พายุโซนร้อนดอนพัดขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และมุ่งหน้าไปที่ชายฝั่งรัฐเท็กซัส
รอยเตอร์เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) อาจเพิ่มขึ้นในเดือนก.ค.จนแตะจุดสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปีโดยได้รับแรงหนุนจากการที่ซาอุดิอาระเบียและแองโกลาปรับเพิ่มปริมาณการผลิต
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ปรับทบทวนตัวเลขอุปสงค์น้ำมันสหรัฐประจำเดือนพ.ค. โดยปรับลดตัวเลขลงจากเดิมเป็นอย่างมาก
EIA ระบุว่าอุปสงค์น้ำมันสหรัฐอยู่ที่ 18.363 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพ.ค.โดยปรับลดลง 2.34 % หรือ 440,000 บาร์เรลต่อวัน จากตัวเลขประเมินครั้งก่อนที่18.803 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพ.ค.
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน ครั้งแรกลดลง 24,000 ราย สู่ 398,000 รายในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 23 ก.ค. จาก 422,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น--จบ--
ตลาดโลหะมีค่านิวยอร์ค:ทองขยับลง,ตลาดจับตาการโหวตในสภาผู้แทนสหรัฐ
ราคาทองสปอตที่ตลาดสหรัฐปิดขยับลงในวันพฤหัสบดี หลังจากทำสถิติสูงสุดเมื่อวานนี้ที่ 1,628 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยนักลงทุนออกไปรอดูท่าทีอยู่นอกตลาด ในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐใกล้จะโหวตร่างกฎหมายปรับลดยอดขาดดุลงบระมาณที่เสนอโดยพรรครีพับลิกัน
ราคาโลหะเงินในตลาดสปอตดิ่งลง 1.3 % สู่ 39.67 ดอลลาร์
ราคาทองพุ่งขึ้นมาแล้วราว 8 % ในเดือนก.ค. แต่ราคาทองอาจดิ่งลงในอนาคตถ้าหากสหรัฐสามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับขึ้นเพดานหนี้ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้นักลงทุนหันไปซื้อสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ และถ้าหากนักลงทุนมองว่ามาตรการปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐจะส่งผลให้เกิดภาวะเงินฝืด
นักยุทธศาสตร์การลงทุนของ CitiFX กล่าวว่า ถ้าหากราคาทองสามารถปิดตลาดเดือนก.ค.ที่ระดับสูงกว่า 1,557.75 ดอลลาร์ ปัจจัยดังกล่าวก็จะบ่งชี้ว่าราคาทองอาจมีเป้าหมายอยู่ที่ 1,700-1,750 ดอลลาร์สำหรับช่วงสิ้นปี 2011
ตลาดเงินนิวยอร์ค:ตัวเลขศก.ยุโรป,พันธบัตรอิตาลีกดยูโรร่วงลง
ยูโรร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินหลายสกุลในวันพฤหัสบดี ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจยุโรปและการพุ่งขึ้นของต้นทุนการกู้ยืมของอิตาลีทำให้นักลงทุนกังวลว่าวิกฤติหนี้ยูโรโซนอาจลุกลามออกไป
ทั้งนี้ ดอลลาร์อยู่ที่ 77.76 เยน ร่วงลงจากระดับปิดตลาดวันพฤหัสบดีที่ 77.97 เยน ส่วนยูโรอยู่ที่ 1.4314 ดอลลาร์ ร่วงลงจาก 1.4365 ดอลลาร์ ทางด้านยูโร/เยนอยู่ที่ 111.31 เยน อ่อนลงจาก 112.02 เยน
อิตาลีขายพันธบัตรรัฐบาลประเภท 10 ปีด้วยอัตราผลตอบแทนที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี ในขณะที่มีรายงานว่า ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซนอยู่ในระดับต่ำเกินคาด
คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของนักธุรกิจและผู้บริโภคในยูโรโซนร่วงลงสู่ 103.2 ในเดือนก.ค. จาก 105.4 ในเดือนมิ.ย. โดยตัวเลขเดือนก.ค.นี้อยู่ในระดับต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 104.0
นักลงทุนคาดว่า ทิศทางของยูโร/ดอลลาร์อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ในช่วงต่อไปในวันพฤหัสบดี โดยขึ้นอยู่กับผลการโหวตในสภาคองเกรสสหรัฐต่อร่างกฎหมายเพดานหนี้
ยูโรมีแนวรับรออยู่ที่ 1.4185-1.4187 ดอลลลาร์
ดอลลาร์ร่วงลงทำสถิติต่ำสุดที่ 0.7990 ฟรังก์สวิส ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงต่อมา
ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินสำคัญปรับขึ้น 0.2 % สู่ 74.232 ในขณะที่นักลงทุนหลายรายปรับตัวรับการคาดการณ์ที่ว่าจะมีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ
"การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้น แต่สหรัฐยังคงเป็นตลาดตราสารหนี้ที่มีสภาพคล่องสูงที่สุดในโลก" นายพอล มาร์คแฮม ผู้จัดการพอร์ทลงทุนของบริษัทนิวตัน แคปิตัล แมเนจเมนท์กล่าว
บริษัทบราวน์ บราเธอร์ส แฮร์รีแมนคาดว่า ดอลลาร์/เยนจะยังคงปรับลงต่อไปในระยะสั้น และระบุว่า "เราไม่เชื่อว่าจะมีการแทรกแซงตลาด นอกจากว่าดอลลาร์/เยนจะดิ่งลงอย่างรุนแรงและไม่เป็นระเบียบ"
ตลาดเงิน Emerging Asia:สกุลเงินเอเชียอ่อนค่า ขณะนักเก็งกำไรซื้อคืนดอลล์
ริงกิต และเปโซร่วงลงในวันนี้ ขณะที่กลุ่มนักเก็งกำไรอินเตอร์แบงก์ลดสัดส่วนการถือครองสกุลเงินเอเชียในวันนี้ จากความวิตกเกี่ยวกับการลุกลามของปัญหาหนี้ในยุโรป และภาวะชะงักงันทางการเมืองในสหรัฐเกี่ยวกับการลดยอดขาดดุล
แต่เนื่องจากความวิตกต่อการผิดนัดชำระหนี้ หรือการลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐยังคงเป็นปัจจัยถ่วงดอลลาร์ สกุลเงินเอเชียจึงยังคงมีแนวโน้มที่สดใสในระยะยาว
ดีลเลอร์และนักวิเคราะห์กล่าวว่า สกุลเงินส่วนใหญ่ อาทิ วอน ฟื้นตัวขึ้นจากการร่วงลงในช่วงแรกในท้ายภาคบ่าย ขณะที่สกุลเงินเหล่านี้ยังคงดึงดูดใจมากกว่าดอลลาร์หรือยูโร
นายสักเตียนดิ สุพาท ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย FX จากเมย์แบงก์ กล่าวว่า ถ้าสหรัฐถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ และตลาดหุ้นดิ่งลงทั่วโลก นักลงทุนก็ควรจะหันมามองสกุลเงินต่างๆ อาทิ บาท แทนที่จะเป็นสกุลเงินของประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกมากกว่า
ริงกิตปรับตัวลง 0.4% เมื่อเทียบกับดอลลาร์จากแรงซื้อคืนดอลลาร์ ท่ามกลางยูโรที่อ่อนค่าลง
เปโซร่วงลง ขณะที่กลุ่มนักเก็งกำไรอินเตอร์แบงก์ซื้อคืนดอลลาร์
วอนฟื้นตัวขึ้นจากการร่วงลงในช่วงเช้า ขณะที่กลุ่มผู้ส่งออกซื้อวอนเพื่อชำระบัญชีในช่วงปลายเดือน
ENGLAND:ดัชนีค่าระวางเรือ(Baltic Dry Index)ปิดวานนี้ลบ 18 จุด สู่ 1278
ดัชนีค่าระวางเรือ (Baltic Dry Index) ปิดวานนี้ (28 ก.ค.) ลบ 18 จุด หรือ 1.39 % สู่ระดับ 1278
ระดับสูงสุดตลอดกาลอยู่ที่ 11793 และระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 554
ความเคลื่อนไหวของดัชนีในช่วง 5 วันทำการที่ผ่านมามีดังนี้:-
วันที่ ระดับปิด เปลี่ยนแปลง (จุด)
27 ก.ค. 1296 -14
26 ก.ค. 1310 -7
25 ก.ค. 1317 -6
22 ก.ค. 1323 -2
21 ก.ค. 1325 -3