


ตลาดหุ้นนิวยอร์ค:ดาวโจนส์ปิดบวก 0.34% จากแรงซื้อเก็งกำไร
ตลาดหุ้นสหรัฐปิดปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในวันจันทร์หลังร่วงลง 4 สัปดาห์ ขณะที่นักลงทุนลังเลที่จะเข้าซื้อหุ้นล็อตใหญ่ ขณะที่ไม่มีปัจจัยกระตุ้นการเข้าซื้อ โดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังคงนำตลาด
ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดบวก 37.00 จุดหรือ 0.34% สู่ 10,854.65, ดัชนี S&P 500 ปิดขยับขึ้น 0.29 จุดหรือ 0.03% สู่ 1,123.82 และดัชนี Nasdaq ปิดเพิ่มขึ้น 3.54 จุดหรือ 0.15% สู่ 2,345.38
ปริมาณการซื้อขายอยู่ที่ 8.46 พันล้านหุ้นในตลาดหุ้นนิวยอร์ค, ตลาดหุ้นอเมริกัน (American Stock Exchange) และตลาดหุ้น Nasdaq ใกล้เคียงปริมาณเฉลี่ยต่อวันของปีที่แล้วที่ 8.47 พันล้านหุ้น แต่มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวก 4 ต่อ 3 ในตลาดนิวยอร์ค และ 7 ต่อ 6 ในตลาด Nasdaq
ปัจจัยที่อาจกระตุ้นตลาดได้แก่การแสดงสุนทรพจน์ของนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมธนาคารที่เมืองแจ๊คสัน โฮล รัฐไวโอมิ่งในวันศุกร์นี้ โดยตลาดหวังว่า นายเบอร์นันเก้จะระบุถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมซึ่งอาจหนุนตลาด
มีการคาดการณ์ในตลาดการเงินว่า นายเบอร์นันเก้จะใช้การแถลงสุนทรพจน์ในวันศุกร์นี้เพื่อส่งสัญญาณเกี่ยวกับมาตรการทางการเงินใหม่ในการสนับสนุนเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ อย่างไรก็ตาม นายเบอร์นันเก้มีแนวโน้มที่จะดำเนินมาตรการอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาทิ การซื้อพันธบัตรรอบใหม่หรือ QE3 (รอยเตอร์)
ตลาดน้ำมันนิวยอร์ค:ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นตามตลาดหุ้นสหรัฐ
ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ปิดพุ่งขึ้นท่ามกลางบรรยากาศการซื้อขายที่ผันผวนในวันจันทร์ ในขณะที่การปรับขึ้นของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทช่วยหนุนราคาน้ำมัน
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบส่งมอบเดือนก.ย.ทะยานขึ้น 1.86 ดอลลาร์ หรือ 2.26 % มาปิดตลาดที่ 84.12 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 81.13-84.67 ดอลลาร์ โดยสัญญาเดือนก.ย.ครบกำหนดส่งมอบในช่วงปิดตลาดวันจันทร์
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนต.ค.ที่ตลาดกรุงลอนดอนร่วงลง 26 เซนต์ สู่ 108.36 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากร่วงลงแตะจุดต่ำสุดของวันที่ 105.15 ดอลลาร์ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ได้รับแรงกดดันจากความหวังที่ว่า ลิเบียจะเริ่มต้นผลิตน้ำมันอีกครั้งในเร็วๆนี้ ในขณะที่สงครามกลางเมืองลิเบียใกล้จะสิ้นสุดลง
ราคาน้ำมันลดช่วงบวกลงในช่วงเที่ยง เนื่องจากพยากรณ์อากาศระบุว่า พายุเฮอริเคนไอรีน ซึ่งถือเป็นพายุเฮอริเคนลูกแรกของปีนี้ ไม่มีแนวโน้มที่จะพัดผ่านแหล่งผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก
บริษัทเจพีมอร์แกนปรับลดตัวเลขคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลง 9 ดอลลาร์ สู่ 115 ดอลลาร์/บาร์เรลสำหรับปี 2012 และระบุว่าราคาน้ำมันดิบจะได้รับแรงกดดันจากตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง และจากการที่ลิเบียส่งออกน้ำมันอีกครั้ง
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ส.ค.ในวันพุธนี้ (รอยเตอร์)
ตลาดโลหะมีค่านิวยอร์ค:ทองพุ่งขึ้นทำนิวไฮใกล้ 1,900 ดอลล์
ราคาทองสปอตที่ตลาดสหรัฐพุ่งขึ้นเกือบ 2 % สู่สถิติสูงสุดใกล้ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในวันจันทร์ ในขณะที่ภาวะอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกทำให้นักลงทุนคาดการณ์กันว่าจะมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินลงต่อไป ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความน่าดึงดูดให้แก่ทองในฐานะเครื่องมือประกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ
ราคาสัญญาทองเดือนธ.ค.ปิดตลาดพุ่งขึ้น 2.1 % หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 1,858.00-1,899.40 ดอลลาร์ต่อออนซ์
นักลงทุนจับตามองถ้อยแถลงของนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในงานประชุมประจำปีของธนาคารกลางในวันศุกร์นี้ โดยนักวิเคราะห์กล่าวว่า ราคาทองอาจได้รับแรงหนุนเล็กน้อย ถ้าหากนายเบอร์นันเก้ไม่ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบสาม (QE3) ในวันศุกร์นี้
ราคาทองมีโอกาสปรับฐานลงอย่างรุนแรง หลังจากราคาทองพุ่งขึ้นมาแล้ว 6 % ในช่วง 3 วันทำการที่ผ่านมา และทะยานขึ้นมาแล้ว 400 ดอลลาร์นับตั้งแต่เดือนก.ค.
ราคาทองทะยานขึ้นมาแล้ว 33 % จากช่วงต้นปีนี้
ดัชนีความผันผวนของราคาทองพุ่งขึ้น 13 % สู่ 33 ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปีครึ่ง
ส่วนในช่วงการซื้อขายวันอังคารนั้น ราคาทองสปอตได้ขึ้นไปทำสถิติสูงสุดที่ 1,912.09 ดอลลาร์ ส่วนราคาสัญญาทองเดือนธ.ค.อยู่ที่ 1,912.90 ดอลลาร์
สำหรับราคาโลหะมีค่าที่ตลาด COMEX ในวันจันทร์มีดังต่อไปนี้
ปิดที่ระดับ (ดอลลาร์/ออนซ์) เปลี่ยนแปลง (ดอลลาร์)
ทองเดือนธ.ค. 1,891.90 + 39.70
เงินเดือนก.ย. 43.325 + 89.30 (เซนต์)
พลาตินั่มเดือนต.ค. 1,905.70 + 30.80
พัลลาเดียมเดือนก.ย. 765.10 + 16.30 (รอยเตอร์)
ตลาดเงินนิวยอร์ค:ดอลล์ร่วงเทียบสกุลเงินผลตอบแทนสูง,จับตา"เบอร์นันเก้"
ดอลลาร์ร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ในวันจันทร์ ขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจดำเนินมาตรการใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งหนุนความต้องการสินทรัพย์เสี่ยง
ทั้งนี้ ดอลลาร์อยู่ที่ 76.800 เยน เทียบกับระดับปิดวันศุกร์ที่ 76.520 เยน ส่วนยูโรอยู่ที่ 1.4361 ดอลลาร์ และ 110.30 เยน เทียบกับระดับปิดวันศุกร์ที่ 1.4395 ดอลลาร์ และ 110.18 เยน
ยูโรร่วงลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์จากความวิตกว่าสหภาพยุโรปดำเนินการล่าช้าเกินไปในการแก้ไขวิกฤติหนี้และธนาคาร ขณะที่ทางการสวิตเซอร์แลนด์พยายามที่จะถ่วงฟรังก์ลง
เฟดจะจัดการประชุมประจำปีที่รัฐไวโอมิ่งในสัปดาห์นี้ และความปั่นป่วนของตลาดในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงสัญญาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงในสหรัฐได้หนุนการคาดการณ์ที่ว่า นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดอาจจะบ่งชี้ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉุกเฉิน
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ออสเตรเลีย, ดอลลาร์นิวซีแลนด์และดอลลาร์แคนาดา
ยูโรปรับตัวลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ขณะที่ความวิตกเกี่ยวกับวิกฤติหนี้ยุโรปเพิ่มขึ้น หลังจากนางแองเจลา เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีปฏิเสธข้อเรียกร้องในการร่วมออกพันธบัตรยูโรเพื่อเป็นช่องทางการกู้ยืมสำหรับประเทศที่อ่อนแอในยูโรโซน
ยูโรและดอลลาร์ปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส หลังธนาคารกลางสวิสเข้าแทรกแซงตลาดฟอร์เวิร์ดประเภท 1 เดือนเพื่อสกัดกั้นนักลงทุนจากการเข้าซื้อฟรังก์
ดอลลาร์ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเยน แต่ยังคงอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ (รอยเตอร์)
ตลาดเงิน Emerging Asia:แรงซื้อเก็งกำไรหนุนวอน,เปโซแข็งค่าวันนี้
วอนและเปโซปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ขณะที่กลุ่มนักเก็งกำไรเข้าซื้อสกุลเงินเอเชียบางสกุลในช่วงขาลง แต่ต่อมาสกุลเงินเอเชีย อ่อนค่าลง หลังจากแข็งค่าขึ้นในช่วงแรก จากความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และวิกฤติหนี้ของยูโรโซน
รูเปียห์อ่อนค่าลงต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยรอบ 55 วันจากความต้องการดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนของผู้นำเข้าเพื่อนำไปชำระบัญชี การขายหุ้นจำนวนมากของนักลงทุนต่างชาติเมื่อวันศุกร์ เป็นปัจจัยกดดันรูเปียห์ด้วย
บาท/ดอลลาร์อ่อนค่าลงตามยูโรที่อ่อนค่าลง นักลงทุนไม่ได้รับผลกระทบจากข้อมูลที่ว่า เศรษฐกิจไทยหดตัวลงเกินคาดในไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ซึ่งจะบดบังแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย โดยบาท/ดอลลาร์ภาคบ่ายแกว่งตัวในกรอบแคบ เพื่อรอดูความชัดเจนของทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ในช่วงกลางสัปดาห์นี้ บาท/ดอลลาร์ อยู่ที่ 29.82/84 จาก 29.81/84 ช่วงเช้า ขณะที่ในตลาด offshore อยู่ที่ 29.80/85 จาก 29.80/82 ช่วงเช้า (รอยเตอร์)
ดัชนีค่าระวางเรือ (Baltic Dry Index) ปิดวานนี้ (22 ส.ค.) บวก 53 จุด หรือ 3.63% สู่ระดับ 1515
ระดับสูงสุดตลอดกาลอยู่ที่ 11793 และระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 554
ความเคลื่อนไหวของดัชนีในช่วง 5 วันทำการที่ผ่านมามีดังนี้:-
วันที่ ระดับปิด เปลี่ยนแปลง (จุด)
19 ส.ค. 1462 +48
18 ส.ค. 1414 +43
17 ส.ค. 1371 +27
16 ส.ค. 1344 +38
15 ส.ค. 1306 +19 (รอยเตอร์)
23-08-54POEMS>> แนวโน้ม Sideways Down...
SETI ปิดปรับตัวลดลงต่ำกว่าเส้น EMA(75) วัน และ Indicators ทุกตัวยังให้ค่าสัญญาณลบไม่ว่าจะเป็น MACD, RSI และ Modified Stochastic จึงทำให้มีแนวโน้มในระยะสั้นเป็น Sideways Down โดยหากหลุดต่ำกว่า 1030 จุด จะกลับเป็นขาลง
ดังนั้นในระยะสั้นแนะนำ "ขาย”
PTTCH ปิด 139.00 บาท
ปิดปรับตัวลดลงมาต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยทุกเส้นพร้อมปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับ Indicators ทุกตัวให้ค่าสัญญาณลบ
แนวโน้มเป็นขาลง แนะนำ "ขาย" แนวต้านที่ 140.50-141.50 บาท แนวรับที่ 137.50-133.50 บาท
IRPC ปิด 5.05 บาท
แท่งเทียนมีสีดำ ประกอบกับ Indicators ทุกตัวให้ค่าสัญญาณลบ
แนวโน้มเป็นขาลงแนะนำ "ขาย" แนวต้านที่ 5.15-5.25 บาท แนวรับที่ 4.75-4.50 บาท
TMB ปิด 1.82 บาท
ปิดปรับตัวลดลงมาต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยทุกเส้น ประกอบกับ Indicators ทุกตัวให้ค่าสัญญาณลบ แนวโน้มเป็นขาลง
แนะนำ "ขาย" แนวต้านที่ 1.85-1.87 บาท แนวรับที่ 1.65-1.50 บาท
TOP ปิด 67.75 บาท
MACD ปิดต่ำกว่าเส้น Zero Line ประกอบกับ Indicators ทุกตัวให้ค่าสัญญาณลบ แนวโน้มเป็นขาลง
แนะนำ "ขาย" แนวต้านที่ 68.75-69.25 บาท แนวรับที่ 65.00-60.00บาท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น